"เผาเครื่องยาร้อน"
ศาสตร์หัตถการ"เผาเครื่องยาร้อน"ในการแพทย์พื้นบ้านและการแพทย์แผนไทย
โดย อาจารย์คมสัน ทินกร ณ อยุธยา (พท.ภ/พท.ว)
ลูกศิษย์มิได้มีเจตนาอื่นแอบแฝงขอนำมาเผยแพร่ เพื่อให้ความรู้นี้อยู่คู่ประเทศไทยสืบไป...
โดย อาจารย์คมสัน ทินกร ณ อยุธยา (พท.ภ/พท.ว)
ลูกศิษย์มิได้มีเจตนาอื่นแอบแฝงขอนำมาเผยแพร่ เพื่อให้ความรู้นี้อยู่คู่ประเทศไทยสืบไป...
ศาสตร์การเผาเครื่องยาร้อนมีมาแต่นานเท่าใดไม่มีหลักฐานเอกสารปรากฎชัดเจน แต่ทำสืบกันมาโดยมากในกลุ่มหมอเมืองพื้นบ้านทางภาคเหนือของประเทศไทยเช่นเชียงใหม่,เชียงรายเป็นต้น ทางภาคเหนือของประเทศนั้นอยู่ในเขตสมุฏฐานเตโช ใกล้กับแสงพระอาทิตย์มากกว่าทางที่ราบลุ่มและมักมีอากาศหนาวเย็นมากกว่าอีกด้วย จึงมักใช้ความร้อนจากการเผายาเพื่อกระจายกองลมที่อัดอั้นอยู่ตรงบริเวณที่มีอาการ และเพื่อจุดไฟธาตุยามอากาศเข้าหนาวเข้าเย็นเป็นภูมิรู้คิดที่ประดิษฐ์ขึ้นให้ถูกกับอาการอันเกิดแต่สภาพภูมิประเทศและสภาพภูมิอากาศ
หัตถการเผาเครื่องยาร้อนใช้กับอาการหนาวเนื้อเข้ากระดูก,ลมเหน็บชาตะคริว,ลดอาการขัดแข้งขัดขาปวดเมื่อยตามเนื้อตามตัว,ช่วยจุดไฟธาตุในการย่อยอาหาร,ช่วยลดอาการท้องอืดเฟ้อเรอเปรี้ยว,ช่วยบรรเทาอาการลมเสียดเข้าสะโพก,ปวดหลัง,ปวดเจ็บที่หัวเข่า ฯลฯ กลไกการบำบัดนั้นใช้ความร้อนในอุณหภูมิที่เหมาะสมร่วมกับเครื่องยาที่มีรสร้อนเข้าไปบำบัดตรงบริเวณที่เกิดอาการตรงๆ ในศาสตร์วิชานั้นก็เพื่อกระจายเสียซึ่งกองลมที่พัดพาไหลเวียนไม่สะดวกนั้นให้เคลื่อนไปทำให้โลหิตเข้าไปหล่อเลี้ยงได้ดียิ่งขึ้นตลอดถึงทำให้ธาตุดินในบริเวณนั้นอ่อนตัวลงที่ตึงขมึงอยู่จะผ่อนตาม
การหัตถการนี้กระทำโดยผู้ผ่านการฝึกฝนผ่านการเรียนรู้จากครูบาอาจารย์มาแล้วเท่านั้น และมักกระทำโดยหมอมิใช่ผู้อื่นใดจะกระทำได้เป็นทั่วไป ถ้าผู้อื่นกระทำแทนต้องอยู่ในความดูแลของหมอตลอดการปฎิบัติหัตถการนั้น เหตุเพราะต้องใช้ไฟในการหัตถการจำต้องมีความระวังไว้เป็นพื้นฐานซึ่งถ้าปฎิบัติอย่างระมัดระวังไม่ประมาทแล้วไซร้หัตถการนี้มีคุณเพื่อการบำบัดยิ่งนัก
ก่อนที่จะใช้หัตถการนี้หมอจะทำการตรวจวินิจฉัยเสียก่อน หากมีความร้อนภายในมากจะไม่กระทำ แลหากมีอาการปวดหัว,ตัวร้อน,มึนเวียนศรีษะ,หน้ามืดตาลาย หมอจะใช้หัตถการฝั่งด้านเย็นแทนฝั่งด้านร้อนเช่นการเผายาเป็นต้น เพราะจะยิ่งมีความร้อนเพิ่มขึ้นไปอีกทำให้เกิดกองลมซ้ำเข้าไปไม่ควร แต่หากหลังจากวินิจฉัยแล้วว่าทำหัตถการนี้เหมาะควรหมอจะนวดบริเวณที่มีอาการเสียก่อนเสมือนการกระตุ้นจากนั้นจะนำผ้าชุบน้ำบิดแล้ววงล้อมบริเวณที่จะหัตถการนั้น นำเครื่องยาอันประกอบด้วยเครื่องยารสร้อนอาทิ เหง้าไพล,เหง้ากระทือ,เหง้าขิง,เหง้าข่า,เหง้าขมิ้น,เหง้าตะไคร้ ลงสระในวงที่ทำไว้เบื้องต้น จากนั้นโรยผงเกลือแกงเพื่อนำยาและความร้อนผ่านผิวหนังลงไปภายใน นำผ้าชุบน้ำอีกผืนหนึ่งคลุมปิดวงเครื่องยาที่สระไว้จนมิดชิด แล้วนำAL95%ราดลงแต่พอควรและจุดไฟ คนไข้จะรู้สึกเพียงแค่อุ่นๆเท่านั้นเพราะเปลวไฟอยู่เพียงผืนผ้าที่เปียกน้ำอยู่ แลยังมีชั้นเครื่องยาขวางความร้อนจากเปลวไฟนั้นอยู่อีกเป็นชั้นที่สองในขณะเดียวกันหมอจะถือผ้าชุบน้ำไว้อีกผืนเพื่อป้องกันเปลวไฟนั้นหากคนไข้แจ้งว่าร้อนพอควรแล้ว หมอจะคลุมดับไฟทันที เป็นจบขั้นตอนหัตถการเพียงนี้เท่านั้นเอง
ต่อมาหัตถการนี้ได้เริ่มแพร่จากหมอพื้นบ้าน มีการนำไปใช้ร่วมกับหัตถการชนิดอื่นๆของแพทย์แผนไทยโดยทั่วไปทุกภูมิภาคของประเทศ เกิดการพัฒนาเป็นรูปแบบที่ปลอดภัยยิ่งมีการกำหนดสูตรตำรับของเครื่องยา มีการตวงใช้ปริมาณของAlอย่างมาตราฐาน เช่นในการเผายาครั้งที่หนึ่งประมาณ 80-100 cc. ครั้งที่สองประมาณ 50-70 cc. ครั้งที่สามประมาณ 30-50 cc. มีขั้นตอนการ ปฎิบัติที่รัดกุมขึ้นมีการเฝ้าระวังในระหว่างการหัตถการนี้ อันเป็นข้อบังคับในปฎิบัติหัตถการ มีข้อพึงระวังมีข้อห้ามอย่างชัดเจนรัดกุม มีการกำหนดเครื่องมืออุปกรณ์การใช้ เช่นขนาดกะละมังสแตนเลส,ขนาดของผ้าขนหนูที่ใช้,ปริมาณการใช้Alต่อครั้ง เป็นต้น
ปัจจุบันหัตถการเผาเครื่องยาร้อนนี้มีหมอไทยในโรงพยาบาลของรัฐและสถานประกอบการของเอกชน(คลินิก)นำมาใช้เกิดเป็นผลที่ดีต่อการพยาบาลอาการไข้ซึ่งสามารถตรวจสอบและสอบถามข้อมูลเบื้องต้นได้จากแพทย์แผนไทยปฎิบัติการณ์ประจำสถานพยาบาลที่มีหัตถการนี้อยู่ทั่วประเทศ จักได้เข้าใจและแลเห็นถึงคุณประโยชน์ของหัตถการนี้ว่าหากกระทำได้อย่างถูกต้องรัดกุมแล้วนับมีค่ายิ่งที่จะผดุงรักษาสมบัติของชาติชิ้นนี้ไว้
การหัตถการในการแพทย์แผนไทยนอกเหนือจากการนวดยังมีอีกมากมายเช่นการพอกเครื่องยาเย็น,การประคบเย็น,การชะโลมยา,การนั่งยา,การนึ่งหม้อยา,การย่างยา ฯลฯ นับเป็นนวัตกรรมในการบำบัดรักษาอย่างแยบคายและชาญฉลาดยิ่ง แต่ก็ต้องเรียนรู้ฝึกฝนทักษะในการหัตถการดังเช่นหัตถการนวดดุจเดียวกันเพื่อยังประโยชน์ในการพยาบาลไข้ตลอดจนผดุงรักษาภูมิปัญญาของชาติให้สถิตตั้งมั่นเพื่อผู้ไข้ทั้งปวงตลอดไป...
หัตถการเผายา
ตัวอย่างเครื่องยาบางส่วน
- ไพล บรรเทาปวด แก้เคล็ดขัดยอก
- ขมิ้น ลดการอักเสบ
- ผิวมะกรูด ช่วยขับลม กระจายลม
- ตะไคร้ กระจายเลือดลม
- ใบพลับพลึง ลดปวด บวม แก้เคล็ดขัดยอก
- ใบมะขาม ทำความสะอาดผิว
- ใบส้มป่อย ลดการอักเสบ
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น